บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ปริยัติ-ปฏิบัติสติปัฏฐาน[04]


มาต่อกันในบทความบทที่ 4 ของชุดนี้ คุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้เขียนต่อมา ดังนี้

๒) พิจารณาเวทนา

เมื่อดูดวงกายเสร็จแล้ว เราก็อธิษฐานใจต่อกายธรรมว่า ขอให้พิจารณาเวทนาบ้าง

ท่องใจหยุดในหยุดกลางดวงปฐมมรรคของกายมนุษย์ เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม พอจุดใสเท่าปลายเข็มว่างออกก็อธิษฐานดูดวง เวทนา

เวทนานี้ก็คือใจนั่นเอง เพราะใจมีต้น กลาง ปลาย ใจเบื้องต้นคือใจ ใจชั้นกลางคือจิต  ใจบั้นปลายคือวิญญาณ

พอเราจรดใจลงที่ดวงเวทนา เราจะเห็นอะไรบ้าง?

เราก็เห็นดวงใจเป็นดวงใส นิ่งกลางใจก็เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็มแล้ว นิ่งดูต่อไป 
  • ก) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความใส เราจะรู้สึกว่าเกิดความสุขทางใจ
  • ข) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความขุ่น เราจะรู้สึกไม่เป็นสุข ถ้าความขุ่นกระเดียดไปเป็นดำ เราจะทุกข์ใจมาก
  • ค) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีน้ำตาล เราจะรู้สึกเฉยๆ บุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง จะว่าสุขก็ไม่ใช่จะว่าทุกข์ก็ไม่เชิง

การพิจารณาจนถึงขั้นเป็นอารมณ์ทางใจเกิดแก่เรา ๓ อย่าง คืออารมณ์เป็นสุข (อารมณ์ ฝ่ายกุศล) อารมณ์เป็นทุกข์ (อารมณ์ฝ่ายอกุศล) อารมณ์เป็นกลางๆ (อารมณ์ฝ่ายอัพยากตาธัมมา)

หมายความว่า ธรรมฝ่ายใดมีอำนาจกว่า? ธรรมฝ่ายนั้นก็เข้ามาปกครองใจเรา เราจึงมีอารมณ์ไปตามธรรมของฝ่ายนั้นๆ เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำใจให้สว่างใสเข้าไว้ เพื่อเราจะได้เกิดความสุขทางใจ เพราะการทำใจให้ใสนั้นเป็นธรรมของฝ่ายกุศล

ธรรมของฝ่ายกุศลส่งผลให้สุขทุกสถาน หากเป็นธรรมของฝ่ายอกุศลแล้ว ให้ผลเป็นทุกข์ทั้งนั้น และหากเป็นธรรมของฝ่ายกลางแล้ว ส่งผลให้ไม่สุขและไม่ทุกข์คือเป็นกลางๆ เสมอไป

๓) พิจารณาจิต

จิตคือเห็น จำ คิด รู้ที่ละเอียดไปอีกระดับหนึ่ง พอเราพิจารณาเวทนาแล้ว เราก็อธิษฐานใจต่อกายธรรมขอพิจารณา จิตต่อไป

เราก็เห็นดวงใสเล็กอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือดวงจิต ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงจิตนั้น เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม กลางดวงจิตนั้น

หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีความใส เราจะรู้สึกว่าเรามีใจผ่องใสบันเทิง หากจุดใสมีความขุ่น อารมณ์ของเราไม่ผ่องใสใจคอหงุดหงิด หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีความดำ อารมณ์ของเราถึงขั้นฆ่าแกงได้ทีเดียว หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีน้ำตาล อารมณ์ของราจะเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย

นี่คือธาตุธรรม ๓ ฝ่ายเข้ามาปกครองใจเราเช่นเดียวกับพิจารณาเวทนานั้น เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำใจให้สว่างใสเข้าไว้ เพราะ การทำใจให้ใสเป็นธรรมฝ่ายกุศล ส่งผลให้อารมณ์ของเราผ่องใสบันเทิง

๔) พิจารณาธรรม

ธรรมในที่นี้เป็นดวงกลมขาวใส เป็นดวงธรรมประจำกาย เรียกว่าดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกย่อว่าดวงธรรม ดวงธรรมของธรรม ๓ ฝ่ายมีลักษณะต่างกัน มีสีสันต่างกัน มีอานุภาพต่างกันดังนี้ 
  • ธรรมฝ่ายกุศล       ดวงธรรมขาว กายธรรมขาวให้ผลเป็นสุขสถานเดียว
  • ธรรมฝ่ายอกุศล    ดวงธรรมดำหรือสีตะกั่ว กายดำหรือสีตะกั่วให้ผลเป็นทุกข์สถานเดียว
  • ธรรมฝ่ายกลาง     (อัพยากตาธัมมา) ดวงธรรมสีน้ำตาล กายธรรมสีน้ำตาล ให้ผลกลางๆ คือ ไม่ทุกข์และไม่สุข (จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่เชิง เป็นกลางๆ)

กล่าวถึงการพิจารณา เราก็อธิษฐานต่อกายธรรมขอพิจารณา ธรรมส่งใจนิ่งดูกลางดวงธรรมนั้น เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็มนั้น

แล้วก็ดูว่าที่จุดใสเท่าปลายเข็มมีสีของธรรมภาคใดมาหุ้ม?

หากจุดใสเท่าปลายเข็มสว่างตลอดไป แปลว่าธรรมฝ่ายกุศลส่งผลให้เราเจริญรุ่งเรือง

หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีดำมาหุ้มหรือสีปรอทมาหุ้มส่งผลให้เราไม่เจริญรุ่งเรือง มีเรื่องมีราวทุกข์ร้อน

หากเป็นสีน้ำตาลมาหุ้มจุดใสเท่าปลายเข็มส่งผลให้เราอยู่ในสภาพเดิม ไม่ดีขึ้นและไม่เสื่อมลง

ดังนั้นชีวิตของเราเป็นไปตามการบังคับของธรรมภาคต่างๆ ใครทำกรรมดีไว้? ธรรมของฝ่ายกุศลก็ส่งผลให้เจริญ ใครทำกรรมชั่วไว้? ธรรมของฝ่ายอกุศลก็ส่งผลให้ทุกข์ร้อน

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงสอนให้มนุษย์ทำกุศล เว้นการทำบาป ทำใจให้สว่างใส เพื่อเราจะได้ไม่ทุกข์ นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่สายปฏิบัติธรรมของยุบหนอพองหนอและสายนามรูปซึ่งเป็นสาวกของพระพม่า และชูสติปัฏฐฐาน 4 เป็นธงชัยนั้น  ไม่สามารถอธิบายการปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐานได้อย่างแจ่มชัด

แต่สายวิชาธรรมกายอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง ชัดแจ๋ว และอธิบายครอบคลุมไปอีกหลายประเด็น ทุกประเด็นสอดคล้องพระธรรม พระวินัยทั้งสิ้น

ในขั้นแรก คุณลุงการุณย์ บุญมานุชอธิบายถึงการดู ดวงกาย ดวงเวทนา ดวงจิต และดวงธรรม  ทุกดวงซ้อนกันอยู่ และมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน

จุดศูนย์กลางที่อยู่เหนือสะดือ 2 นิ้วมือนี้แหละคือ “เอกายนมรรค”  ทางสายเดียวหรือทางสายเอกก็แล้วแต่จะเรียกกัน

หัวข้อธรรมะทุกหัวข้อในส่วนละเอียดนั้น มีลักษณะเป็น “ดวง” ทั้งสิ้น  ทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ก็เป็นดวงทั้งสิ้น  และมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น