บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ปริยัติ-ปฏิบัติสติปัฏฐาน[01]


ผมได้เขียนไปแล้วหลายครั้งหลายหนว่า “วิธีปฏิบัติธรรมแบบยุบหนอพองหนอกับแบบนามรูปไม่ได้เป็น สติปัฏฐาน 4”  วิธีปฏิบัติธรรมแบบยุบหนอพองหนอกับแบบนามรูปเป็นการเดินไปเดินมา แล้วคิดเรื่องพระไตรลักษณ์เท่านั้น

แล้วผมก็เขียนไปแล้วหลายครั้งหลายหนว่า วิชาธรรมกายนี่แหละเป็น “สติปัฏฐาน 4” ของแท้แน่นอน

นอกจากนั้นแล้ว ผมได้นำคำสอนของวิชาธรรมกายที่เป็นสติปัฏฐาน 4 แบบสั้นๆ มานำเสนอไป 2-3 บทความแล้ว  คราวนี้ จะนำเสนอสติปัฏฐาน 4 แบบวิชาธรรมกาย ซึ่งจะอธิบายทั้งปริยัติและแนวทางปฏิบัติไปด้วยกัน

สำหรับผลของการปฏิบัติ หรือ ปฏิเวธนั้น ก็มีอยู่ในคำอธิบายอย่างพร้อมมูลด้วยแล้ว 

ข้อมูลก็นำมาจากหนังสือ “ปุจฉาวิสัชนา-วิชาธรรมกาย และประวัติของผู้ทำวิชาปราบมาร” ซึ่งเป็นคำถามของคณะศิษย์และคำตอบของคุณลุงการุณย์ บุญมานุช 

คุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้ตั้งคำถามนำสำหรับการอธิบายประเด็นนี้ ดังนี้

สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร? จงอธิบายทั้งความรู้ปริยัติและความรู้ปฏิบัติ เหตุใดจึงไม่มีใครอธิบายได้? เป็นเพราะอะไร?

คุณลุงการุณย์ได้ตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้

สติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา

สติ คือการระลึกรู้ คือการระลึกได้ การขาดสติคือ การระลึกไม่ได้ จำไม่ได้ ลืมเสียแล้ว นึกอะไรไม่ได้ เป็นลักษณะของคนเหม่อใจลอย ปล่อยใจล่องลอยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักระวังใจ เรียกว่าเป็นคนมีสติไม่มั่นคง

ท่านสอนให้เรากำหนดสติคือ ให้เราตั้งใจพิจารณา พิจารณาเพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาให้จงได้ ถ้าเราคุมใจไม่ได้คือเราคุมสติตัวเองไม่ได้ เราก็พิจารณาอะไรไม่ได้ เพราะใจอยู่ในลักษณะของความไม่พร้อมที่จะทำงานนั่นเอง

เป็นใจที่เราบังคับไม่ได้เสียแล้ว แต่กิเลสมันบังคับได้ กิเลสเขาบังคับให้ล่องลอยไปตามกระแสร้อยแปด

- ท่านให้พิจารณาอะไรหรือ?

ตอบว่าให้พิจารณา ๔ อย่างคือ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม

กาย คือตัวตนของเรา

เวทนา คืออารมณ์ทางใจ ๓ อย่าง คือสุข ทุกข์ ไม่สุขและไม่ทุกข์ (กลางๆ)

จิต คือลักษณะใจที่ผ่องใส ขุ่นมัว หรือสภาพใจที่เป็นกลางๆ จะว่าผ่องใสก็ไม่ใช่ จะว่าขุ่นมัวก็ไม่ชัด

ธรรม ในที่นี้หมายถึง ธรรม ๓ ฝ่าย คือธรรมฝ่ายกุศล ธรรมฝ่ายอกุศล ธรรมฝ่ายกลาง (อัพยากตาธัมมา)

การพิจารณาจะต้องให้เกิด ความเห็นจริงทางใจ คือ เกิดเป็นกัมมัฏฐานทางใจ นี่คือความมุ่ง หวังของหลักสูตร

คราวนี้ก็มาถึงอีกความรู้หนึ่ง ท่านให้พิจารณากายในกาย คำว่า กายในกายหมายถึง ท่านที่เป็นธรรมกาย อย่างน้อยท่านก็รู้จัก ๑๘ กาย คนที่ไม่เป็นธรรมกายก็พิจารณาไม่ได้ เพราะท่านรู้จักแต่กายมนุษย์กายเดียวเท่านั้น จึงไปพิจารณากายในกายไม่ได้

และเมื่อไม่รู้จักกายในกายแล้วก็ไม่รู้เวทนาในเวทนา ไม่รู้จิตในจิตไม่รู้ธรรมในธรรม เป็นอันว่าคนที่ไม่เป็นวิชา ๑๘ กายนั้น จึงหมดโอกาสเรียนวิชาสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

ต่อมาก็มาถึงอีกความรู้หนึ่ง เป็นความรู้ละเอียดขึ้นคือ มีกายที่ไหนก็มีใจครองเสมอไป

เมื่อมีใจแล้วเราก็มาดูว่า เราเอากายของเราพิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ใจ (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) พิจารณาจิต (ผ่องใส ไม่ผ่องใสหรือเป็นกลาง จะว่าผ่องใสก็ไม่ใช่จะว่าขุ่นมัวก็ไม่เชิง) พิจารณาธรรม ๓ ฝ่ายว่าเป็นธรรมฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศล หรือเป็นอัพยากตาธัมมา นี่คือ บทเรียนที่เขากำหนด ให้เราเรียน เราจะต้องทำให้ได้ตามที่ตำราเขาสั่งให้จงได้

โดยสรุป

วิชาธรรมกายนั้น ในการปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐาน 4 จะต้อง เห็นจริงกล่าวคือ 
  • เห็นกายจริงๆ
  • เห็นเวทนาซึ่งเป็นอารมณ์สุข ทุกข์หรืออารมณ์กลางๆ จริงๆ
  • เห็นจิต ซึ่งเป็นใจที่ผ่องใส ขุ่นมัว หรือสภาพใจที่เป็นกลางๆ จริงๆ
  • เห็นธรรม ซึ่งเป็นธรรมขาว ธรรมดำ หรือธรรมที่เป็นกลางๆ จริงๆ

การที่ใครเรียนสติปัฏฐาน 4 ได้ ต้องทำวิชา 18 กายให้ได้ก่อน ถ้าใครทำวิชา 18 กายไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะเห็นกายในกายได้  

ก็ในเมื่อไม่สามารถเห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ซึ่งอยู่ในกายต่างๆ ก็ไม่มีทางที่จะสามารถเห็นได้ ....



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น