บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ปริยัติ-ปฏิบัติสติปัฏฐาน[05]


มาต่อกันในบทความบทที่ 5 ของชุดนี้ คุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้เขียนต่อมา ดังนี้

สรุปการพิจารณา

ในการปฏิบัติจริง ตามที่บรรยายมานี้เป็นการพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ในกายมนุษย์ มีวิธีพิจารณาอย่างไร? ใช้กายธรรมพิจารณาอย่างไร? อธิบายมาชัดเจนแล้ว

ต่อไปเราจะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมในกายใดอีก? และที่กล่าวว่าพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมคืออย่างไร? จงอธิบาย

งานต่อไปที่เราต้องพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ก็คือเราไปพิจารณาให้แก่กายมนุษย์ละเอียด คือการพิจารณาให้แก่กายฝัน คือกายที่ละเอียดต่อจากกายมนุษย์

กายมนุษย์ละเอียดหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากายฝัน คือกายที่ทำหน้าที่ฝันเมื่อกายมนุษย์หลับ นั่นคือกายธรรมมาหยุดนิ่งกลางดวงธรรมของกายมนุษย์ละเอียด แล้วก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมเหมือนดังที่เราพิจารณากายมนุษย์

งานต่อไปเราก็พิจารณาให้แก่กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายพรหมหยาบ กายพรหมละเอียด ... กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด รวม ๑๘ กาย ต่อไป

ทุกกายต่างก็มีดวงกาย ดวงเวทนา ดวงจิต ดวงธรรมในกายนั้นๆ โดยเหตุที่เรามีกายมาก คือกายมนุษย์ และมีกายลำดับไปถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด รวม ๑๘ กายนั้น

การพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ในกายต่างๆ ตั้งแต่กายหยาบไปถึงกายละเอียด จึงเรียกว่า พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

หากเราพิจารณาแค่กายมนุษย์เพียงกายเดียว เราไม่เรียกว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แต่เป็นเพราะเรามีกายมาก ตั้งแต่กายมนุษย์ไปถึงกายธรรม พระอรหัตละเอียด เราจึงต้องพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ละเอียดไปตามลำดับของกาย

การพิจารณาต้องใช้กายธรรมพิจารณา ไม่ใช้กายธรรมพิจารณาได้หรือไม่? จงอธิบาย

การพิจารณาต้องใช้กายธรรมพิจารณาเพราะกายธรรมมีรู้มีญาณทัสสนะลึกซึ้งกว่ากายมนุษย์ หากใช้กายมนุษย์พิจารณาก็ไม่ใช่ขั้นเห็นแจ้งเห็นจริง แต่เป็นเพียงนิสัยปัจจัยเท่านั้น

เพราะกายมนุษย์เป็นกายโลกีย์ยังมีกิเลสอยู่มาก ไม่เหมือนกายธรรมซึ่งแทบจะไม่มีกิเลส โดยเฉพาะกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดไม่มีกิเลสเลย

สรุปแล้ว ความรู้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ เป็นตำราเรียนในพระพุทธศาสนา มีอยู่ในหนังสือนวโกวาท เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี นั่นคือความรู้ปริยัติส่วนหนึ่ง เรียนเพื่อรู้เบื้องต้นแต่การปฏิบัติยังไม่มีใครปฏิบัติได้เพราะยังไม่มีใครทำใจให้สว่างใสได้

ซึ่งเรื่องการทำใจให้สว่างใสตามคำสอนของพระพุทธองค์ข้อ ๓ ที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํนั้น เมื่อทำใจให้สว่างใสได้แล้วจะเห็นดวงปฐมมรรคในท้องของตนเอง แล้วเห็นกายละเอียดเป็นลำดับไป ในที่สุดก็เห็นกายธรรม

เบ็ดเสร็จเห็นกาย ๑๘ กาย ตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนนั้น เหมือนเห็นกายธรรมแล้ว ใช้กายธรรมพิจารณาความรู้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ จึงจะเรียนได้ เรื่องมันยากอย่างนี้

ตอบคำถามสำคัญ ถามว่า ทำไมต้องพิจารณาสติปัฏฐาน ๔?

พระพุทธองค์สอนไว้ในคำถามข้อ ๓ ว่า สจิตตปริโยทปนํ แปลว่าจงทำใจให้สว่างใส หาก ทำใจให้สว่างใสได้แล้ว ทำให้เราได้รับความสำเร็จหลายอย่าง เช่น

ประการแรก ส่งผลให้เราเข้าถึงวิชาสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือบรรลุวิชาธรรมกาย ซึ่งวิชาธรรมกายนี้เป็นทางมรรคผลนิพพาน

ใครยังไม่เป็นวิชาธรรมกาย? ก็แปลว่ายังห่างไกลต่อมรรคผลนิพพาน

วิชาธรรมกายนี้เป็นหลักสูตรบังคับที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องบรรลุได้จงได้ และเป็นประเพณีที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องบรรลุในวัน วิสาขบูชา

การบรรลุวิชาธรรมกายเป็นการยกฐานะของความเป็นพระพุทธเจ้า ความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้ามีขึ้นในวันวิสาขบูชานั้น

ตราบใดที่ยังไม่เป็นวิชาธรรมกาย? มรรคผลนิพพานจะมีขึ้นไม่ได้ เพราะการได้มรรคผลนิพพานนั้นต้องละสังโยชน์ได้ ซึ่งการละสังโยชน์นั้นต้องใช้กายธรรมพิจารณาจึงจะหมดกิเลสได้

ใครละสังโยชน์ได้? จึงจะได้มรรคผลนิพพาน การบรรลุวิชาธรรมกายก็ดี การละสังโยชน์ได้ก็ดี เกิดจากการทำใจให้สว่างใสได้ทั้งนั้น

- การพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่การพิจารณากาย ตำราสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นเพราะกายมีการแตกดัง คือตายได้

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า กายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่วยให้เราไม่ประมาท ความไม่ประมาทจะช่วงให้เราเร่งสร้างกุศล คือ เร่งสร้างทาน ศีล ภาวนา อันเป็นสุดยอดของกุศล...



ปริยัติ-ปฏิบัติสติปัฏฐาน[04]


มาต่อกันในบทความบทที่ 4 ของชุดนี้ คุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้เขียนต่อมา ดังนี้

๒) พิจารณาเวทนา

เมื่อดูดวงกายเสร็จแล้ว เราก็อธิษฐานใจต่อกายธรรมว่า ขอให้พิจารณาเวทนาบ้าง

ท่องใจหยุดในหยุดกลางดวงปฐมมรรคของกายมนุษย์ เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม พอจุดใสเท่าปลายเข็มว่างออกก็อธิษฐานดูดวง เวทนา

เวทนานี้ก็คือใจนั่นเอง เพราะใจมีต้น กลาง ปลาย ใจเบื้องต้นคือใจ ใจชั้นกลางคือจิต  ใจบั้นปลายคือวิญญาณ

พอเราจรดใจลงที่ดวงเวทนา เราจะเห็นอะไรบ้าง?

เราก็เห็นดวงใจเป็นดวงใส นิ่งกลางใจก็เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็มแล้ว นิ่งดูต่อไป 
  • ก) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความใส เราจะรู้สึกว่าเกิดความสุขทางใจ
  • ข) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีความขุ่น เราจะรู้สึกไม่เป็นสุข ถ้าความขุ่นกระเดียดไปเป็นดำ เราจะทุกข์ใจมาก
  • ค) ถ้าจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีน้ำตาล เราจะรู้สึกเฉยๆ บุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง จะว่าสุขก็ไม่ใช่จะว่าทุกข์ก็ไม่เชิง

การพิจารณาจนถึงขั้นเป็นอารมณ์ทางใจเกิดแก่เรา ๓ อย่าง คืออารมณ์เป็นสุข (อารมณ์ ฝ่ายกุศล) อารมณ์เป็นทุกข์ (อารมณ์ฝ่ายอกุศล) อารมณ์เป็นกลางๆ (อารมณ์ฝ่ายอัพยากตาธัมมา)

หมายความว่า ธรรมฝ่ายใดมีอำนาจกว่า? ธรรมฝ่ายนั้นก็เข้ามาปกครองใจเรา เราจึงมีอารมณ์ไปตามธรรมของฝ่ายนั้นๆ เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำใจให้สว่างใสเข้าไว้ เพื่อเราจะได้เกิดความสุขทางใจ เพราะการทำใจให้ใสนั้นเป็นธรรมของฝ่ายกุศล

ธรรมของฝ่ายกุศลส่งผลให้สุขทุกสถาน หากเป็นธรรมของฝ่ายอกุศลแล้ว ให้ผลเป็นทุกข์ทั้งนั้น และหากเป็นธรรมของฝ่ายกลางแล้ว ส่งผลให้ไม่สุขและไม่ทุกข์คือเป็นกลางๆ เสมอไป

๓) พิจารณาจิต

จิตคือเห็น จำ คิด รู้ที่ละเอียดไปอีกระดับหนึ่ง พอเราพิจารณาเวทนาแล้ว เราก็อธิษฐานใจต่อกายธรรมขอพิจารณา จิตต่อไป

เราก็เห็นดวงใสเล็กอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือดวงจิต ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงจิตนั้น เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม กลางดวงจิตนั้น

หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีความใส เราจะรู้สึกว่าเรามีใจผ่องใสบันเทิง หากจุดใสมีความขุ่น อารมณ์ของเราไม่ผ่องใสใจคอหงุดหงิด หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีความดำ อารมณ์ของเราถึงขั้นฆ่าแกงได้ทีเดียว หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีน้ำตาล อารมณ์ของราจะเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย

นี่คือธาตุธรรม ๓ ฝ่ายเข้ามาปกครองใจเราเช่นเดียวกับพิจารณาเวทนานั้น เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำใจให้สว่างใสเข้าไว้ เพราะ การทำใจให้ใสเป็นธรรมฝ่ายกุศล ส่งผลให้อารมณ์ของเราผ่องใสบันเทิง

๔) พิจารณาธรรม

ธรรมในที่นี้เป็นดวงกลมขาวใส เป็นดวงธรรมประจำกาย เรียกว่าดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกย่อว่าดวงธรรม ดวงธรรมของธรรม ๓ ฝ่ายมีลักษณะต่างกัน มีสีสันต่างกัน มีอานุภาพต่างกันดังนี้ 
  • ธรรมฝ่ายกุศล       ดวงธรรมขาว กายธรรมขาวให้ผลเป็นสุขสถานเดียว
  • ธรรมฝ่ายอกุศล    ดวงธรรมดำหรือสีตะกั่ว กายดำหรือสีตะกั่วให้ผลเป็นทุกข์สถานเดียว
  • ธรรมฝ่ายกลาง     (อัพยากตาธัมมา) ดวงธรรมสีน้ำตาล กายธรรมสีน้ำตาล ให้ผลกลางๆ คือ ไม่ทุกข์และไม่สุข (จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่เชิง เป็นกลางๆ)

กล่าวถึงการพิจารณา เราก็อธิษฐานต่อกายธรรมขอพิจารณา ธรรมส่งใจนิ่งดูกลางดวงธรรมนั้น เห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งกลางจุดใสเท่าปลายเข็มนั้น

แล้วก็ดูว่าที่จุดใสเท่าปลายเข็มมีสีของธรรมภาคใดมาหุ้ม?

หากจุดใสเท่าปลายเข็มสว่างตลอดไป แปลว่าธรรมฝ่ายกุศลส่งผลให้เราเจริญรุ่งเรือง

หากจุดใสเท่าปลายเข็มมีสีดำมาหุ้มหรือสีปรอทมาหุ้มส่งผลให้เราไม่เจริญรุ่งเรือง มีเรื่องมีราวทุกข์ร้อน

หากเป็นสีน้ำตาลมาหุ้มจุดใสเท่าปลายเข็มส่งผลให้เราอยู่ในสภาพเดิม ไม่ดีขึ้นและไม่เสื่อมลง

ดังนั้นชีวิตของเราเป็นไปตามการบังคับของธรรมภาคต่างๆ ใครทำกรรมดีไว้? ธรรมของฝ่ายกุศลก็ส่งผลให้เจริญ ใครทำกรรมชั่วไว้? ธรรมของฝ่ายอกุศลก็ส่งผลให้ทุกข์ร้อน

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงสอนให้มนุษย์ทำกุศล เว้นการทำบาป ทำใจให้สว่างใส เพื่อเราจะได้ไม่ทุกข์ นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่สายปฏิบัติธรรมของยุบหนอพองหนอและสายนามรูปซึ่งเป็นสาวกของพระพม่า และชูสติปัฏฐฐาน 4 เป็นธงชัยนั้น  ไม่สามารถอธิบายการปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐานได้อย่างแจ่มชัด

แต่สายวิชาธรรมกายอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง ชัดแจ๋ว และอธิบายครอบคลุมไปอีกหลายประเด็น ทุกประเด็นสอดคล้องพระธรรม พระวินัยทั้งสิ้น

ในขั้นแรก คุณลุงการุณย์ บุญมานุชอธิบายถึงการดู ดวงกาย ดวงเวทนา ดวงจิต และดวงธรรม  ทุกดวงซ้อนกันอยู่ และมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน

จุดศูนย์กลางที่อยู่เหนือสะดือ 2 นิ้วมือนี้แหละคือ “เอกายนมรรค”  ทางสายเดียวหรือทางสายเอกก็แล้วแต่จะเรียกกัน

หัวข้อธรรมะทุกหัวข้อในส่วนละเอียดนั้น มีลักษณะเป็น “ดวง” ทั้งสิ้น  ทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ก็เป็นดวงทั้งสิ้น  และมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน..



ปริยัติ-ปฏิบัติสติปัฏฐาน[03]


มาต่อกันในบทความบทที่ 3 ของชุดนี้ คุณลุงการุณย์ บุญมานุชได้เขียนต่อมา ดังนี้

เหตุใดต้องพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เป็นคำตอบที่ผู้รู้จะตอบคำถามนี้อย่างไร

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมมา แปลว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า คือ ใจทำหน้าที่เป็นประธานใหญ่ ใจเป็นผู้สั่งการ ใจเป็นผู้ปกครอง นี่คือความหมาย

- ปัญหาจึงมีอยู่ว่าใจของนั้นเป็นใจของธาตุธรรมฝ่ายใด?

ต้องตอบคำถามนี้ก่อน เพราะบางเวลาอารมณ์เราบันเทิง บางเวลาใจหงุดหงิด บางเวลาเราอยากจะฆ่าแกง บางโอกาสใจเราก็เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย คนเดียวนี้เอง

เหตุใดใจของเราจึงมีสภาพใจเป็นธรรม ๓ ฝ่าย? คือ ใจบันเทิง เป็นใจของภาคกุศล ใจหงุดหงิดอยากฆ่าแกง เป็นใจของอกุศล ใจเฉย ๆ บุญไม่ทำกรรมไม่ก่อ เป็นใจของธรรมภาคกลาง

นั่นคือธรรมทุกฝายแสวงหาอาณานิคม แสวงหาเมืองขึ้น แสวงหาอำนาจปกครอง เข้ามายึดใจของมนุษย์ ธรรมฝ่ายใดมีกำลังมาก? ธรรมฝ่ายนั้นก็เข้ายึดใจได้

เมื่อยึดใจได้แล้ว ก็แสดงอานุภาพแห่งธาตุธรรมนั้นๆ ให้ปรากฏ เช่น ธาตุธรรมฝ่ายกุศลยึดอำนาจได้เราก็มีใจบันเทิง หากภาคกิเลสคือมารยึดได้เราก็หงุดหงิดอยากแก้แค้น หากธรรมภาคกลางยึดได้เราก็มีสภาพใจเฉย ๆ

การที่ท่านสอนให้เราพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อให้เราชำระใจไม่ให้ภาคกิเลสหรือภาคมารมาครอบครอง เพราะให้ผลเป็นทุกข์แก่เรา

หากเราไม่พิจารณา ก็เหมือนกับเราไม่อาบน้ำชำระร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายสกปรก ความสกปรกเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค จะทำให้เราเป็นโรค นั่นเอง

วิธีการพิจารณาให้ทำดังนี้
เดินวิชา ๑๘ กายเป็นอนุโลมปฏิโลมจนกว่ากายและดวงธรรมจะมีความใส จนถึงขั้นใจของเราเกิดอารมณ์บันเทิงใจ  จากนั้นอาราธนากายธรรมพระอรหัตเดินวิชาถอยหลังเป็นปฏิโลมกลับมา ถึงกายมนุษย์

กายธรรมเข้าสู่ในท้องของกายมนุษย์ กายเข้าสู่กายใด? ต้องเข้ามาตามฐานคือตั้งแต่ฐานที่ ๑ - ๗ ครั้นกายธรรมเข้าสู่ฐานที่ ๗ แล้ว ให้นึกอาราธนากายธรรมส่งรู้ส่องญาณมองดูดวงธรรมในท้องกายมนุษย์

ครั้นเห็นดวงธรรมแล้วประคองใจให้นิ่ง ท่องใจหยุดในหยุดเข้าไว้ เห็นดวงธรรมชัดเจนแล้ว จะดูอะไร? ต้องเจาะไปทีละอย่างให้แจ้งไปทีละอย่าง

ต้องนึกถึงสิ่งที่จะดูนั้นเพียงอย่างเดียว แล้วจะเห็นสิ่งนั้น เมื่อเห็นแล้วจึงพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่งหลักสูตรนั้นๆ เช่น

๑) จะพิจารณากาย

ท่องใจหยุดในหยุดแล้วนิ่งใจจรดกลางดวงธรรม นึกดูดวงกาย ดวงกายเป็นดวงใสรองรับใจ (ใจคือเห็น จำ คิด รู้) นึกดูศูนย์กลางของดวงกาย เราก็เห็นว่า ดวงกายนี้มีดวงแก่ ดวงเจ็บ ดวงตาย มาหุ้มเป็นชั้นๆ

ดวงแก่สีน้ำตาล ดวงเจ็บเป็นดวงขุ่น ต่อไปก็ดำ ดวงตายเป็นดวงดำประดุจนิล ดวงเหล่านี้มาหุ้มแล้ว ส่งผลให้กายมนุษย์ต้องแก่ ต้องเจ็บ และตาย ดวงเหล่านี้ทำหน้าที่เผาผลาญ

เมื่อเราส่งใจกายธรรมจรดใจลงไปกลางดวงกาย เราก็เห็นความแปรปรวนของกายว่ากายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบเป็นร่างกายของเราขึ้นมา

เห็นความเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นคนมีอายุ แล้วก็ตายไป เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านจึงกล่าวว่าไม่ให้เรายึดมั่นกาย เพราะเราบังคับไม่ได้ มีแต่แก่ เจ็บ ตาย

กายธรรมต่อรู้ต่อญาณให้ เราจึงเห็นไปตามที่กายธรรมท่านทำให้

นี่คือการพิจารณากายมนุษย์ กายอื่นๆ คือกายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม เรายังไม่ได้พิจารณา

จะเห็นได้ว่า วิชาธรรมกายนั้น เป็นสติปัฏฐาน 4 อย่างแจ้งชัด สามารถอธิบายการเห็นกายได้อย่างละเอียด ชัดเจน สามารถเข้าใจพระไตรลักษณ์ หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของกายโลกีย์ทั้งหลาย อย่างทั้งรู้ ทั้งเห็น

ไม่ต้องไปคิดพิจารณามั่วๆ อย่างที่สายยุบหนอพองหนอหรือสายนามรูปสอน....